วันอังคารที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2556

กลุ่มบริษัทชาญอิสสระ จับมือ กลุ่มไทยพาณิชย์ จัดตั้งกองทุนรวมอสังหาฯโรงแรมศรีพันวา

กลุ่มบริษัทชาญอิสสระ จับมือ กลุ่มไทยพาณิชย์ จัดตั้งกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์โรงแรมศรีพันวา พร้อมร่วมรับประกันรายได้ค่าเช่าคงที่อย่างน้อย 5 ปีแรก

นางโชติกา สวนานนท์ กรรมการผู้อำนวยการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัด เปิดเผยว่า บริษัทฯ เตรียมที่จะออกกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ประเภทลงทุนในกรรมสิทธิ์อสังหาริมทรัพย์ (Freehold) เพิ่มอีก 1 กองทุน

ด้วยความร่วมมือกับบริษัทในกลุ่ม บริษัท ชาญอิสสระ ดีเวล็อปเมนท์ จำกัด (มหาชน) และธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน และผู้รับประกันการจัดจำหน่ายหน่วยลงทุน

โดยใช้ชื่อ กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์โรงแรมศรีพันวา หรือ SPWPF เพื่อลงทุนในโครงการโรงแรมศรีพันวา จังหวัดภูเก็ต ซึ่งดำเนินธุรกิจโรงแรมและเซอร์วิสอพาร์ทเม้นท์ระดับหรูหรา ซึ่งประกอบด้วยบ้านพักแบบวิลล่าพร้อมสระว่ายน้ำส่วนตัว จำนวน 38 ยูนิต และห้องพักเซอร์วิสอพาร์ทเม้นท์พร้อมสระว่ายน้ำส่วนตัว จำนวน 7 ยูนิต

ทั้งนี้กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์โรงแรมศรีพันวา จะลงทุนครั้งแรกในกรรมสิทธิ์โครงการโรงแรมศรีพันวาจาก บริษัท ชาญอิสสระ เรสซิเดนซ์ จำกัด อันประกอบด้วยที่ดินพื้นที่ประมาณ 21 ไร่ 2 งาน 55 ตารางวา อาคารและสิ่งปลูกสร้าง พร้อมซื้อเฟอร์นิเจอร์ เครื่องมือและอุปกรณ์ และงานระบบต่างๆของโรงแรมและเซอร์วิส อพาร์ทเมนท์

นางโชติกากล่าวว่า กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ SPWPF ซึ่งมีนโยบายการจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหน่วยลงทุน ที่กำหนดจ่ายอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง จะนำทรัพย์สินที่จะเข้าลงทุนให้เช่าแก่บริษัท ศรีพันวา แมเนจเมนท์ จำกัด (บริษัทซึ่งมีบริษัท ชาญอิสสระ เรสซิเดนซ์ จำกัด ถือหุ้นไม่ต่ำกว่า 99.99%) ภายใต้สัญญาเช่าระยะเวลา 15 ปี

โดยคิดค่าเช่าคงที่ในสัดส่วนสูงของรายได้ทั้งหมดตลอดระยะเวลาของสัญญาเช่า โดย 5 ปีแรกค่าเช่าคงที่เริ่มที่ 151 ล้านบาท ทั้งนี้ตั้งแต่ปีที่ 6 เป็นต้นไป จะมีการปรับเพิ่มขึ้นของค่าเช่าคงที่ 10% ทุกๆ 3 ปี และภายหลังจากปีที่ 10 (ปีที่ 11-15) กองทุนรวมยังมีโอกาสที่จะได้รับค่าเช่าแปรผันเพิ่มเติมตามที่กำหนดในสัญญา

โดยโครงสร้างรายได้ค่าเช่านี้จะส่งผลให้กองทุนรวมมีรายได้ที่แน่นอนและสม่ำเสมอ นอกจากนี้การรับประกันรายได้ค่าเช่าคงที่โดยบริษัท ชาญอิสสระ เรสซิเดนซ์ จำกัด และบริษัท ชาญอิสสระ ดีเวล็อปเมนท์ จำกัด (มหาชน) จะเพิ่มความมั่นใจให้แก่กองทุนรวมอย่างน้อย 5 ปีแรกนับตั้งแต่วันที่กองทุนรวมลงทุนทรัพย์สิน

ด้านนายสงกรานต์ อิสสระ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ชาญอิสสระ ดีเวล็อปเมนท์ จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงการนำโครงการโรงแรมศรีพันวาซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการของกลุ่มบริษัทชาญอิสสระ เข้ามาร่วมจัดตั้งกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ในครั้งนี้เนื่องจากมองเห็นศักยภาพในอนาคต เพราะโครงการโรงแรมศรีพันวาเป็นทรัพย์สินที่มีความโดดเด่นในทำเลที่ตั้ง โดยตั้งอยู่บนแหลมพันวา จ. ภูเก็ต ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวชั้นนำของประเทศไทย ทั้งยังมีลักษณะเฉพาะตัว รวมถึงมีโอกาสค่อนข้างสูงที่มูลค่าที่ดินซึ่งเป็นที่ตั้งของโครงการโรงแรมศรีพันวาจะเพิ่มสูงขึ้นในอนาคตเพราะปัจจุบันที่ดินที่มีลักษณะเดียวกันกับที่ดินซึ่งเป็นที่ตั้งโครงการโรงแรมศรีพันวามีอยู่อย่างจำกัด

ส่วนนายวรสิทธิ อิสสระ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ชาญอิสสระ เรสซิเดนซ์ จำกัด กล่าวว่า โครงการโรงแรมศรีพันวา ได้เปิดดำเนินงานครบทั้งในส่วนธุรกิจโรงแรมและธุรกิจเซอร์วิสอพาร์ทเม้นท์เป็นเวลาประมาณ 3 ปี ตั้งแต่เดือนกันยายน 2553 โดยโครงการโรงแรมศรีพันวามีผลการดำเนินงานที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง ทั้งในส่วนของรายได้รวมที่มีอัตราการเติบโตเฉลี่ยตั้งแต่ปี 2553-2555 อยู่ที่ประมาณ 23.9% และในส่วนของอัตราการเข้าพักเฉลี่ยก็มีการเติบโตที่ต่อเนื่องเช่นกัน โดยในไตรมาสที่ 1 ปี 2556 ที่ผ่านมานั้นอัตราการเข้าพักเฉลี่ยสูงถึง 55.7% โดยเพิ่มขึ้นถึง 11% เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน

สำหรับการแข่งขันของธุรกิจโรงแรมระดับหรูหราใน จ.ภูเก็ต มีค่อนข้างต่ำ เนื่องจากจำนวนโรงแรมในระดับเดียวกันมีอยู่จำกัด และการเข้าสู่ตลาดของคู่แข่งรายใหม่เป็นไปได้ยาก เพราะเป็นธุรกิจที่มีต้นทุนสูงและต้องการความชำนาญของผู้บริหารเป็นอย่างมาก ในขณะเดียวกันกลุ่มลูกค้าของธุรกิจโรงแรมระดับหรูหราซึ่งมีลักษณะเฉพาะกลุ่ม (Niche Market) ซึ่งมีกำลังซื้อสูงและมักจะได้รับผลกระทบน้อยจากความผันผวนของสภาวะเศรษฐกิจนั้นมีแนวโน้มที่จะขยายตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มประเทศเอเชีย เช่น เกาหลีใต้ จีน รัสเซีย อินเดีย ซึ่งเป็นฐานลูกค้าหลักของโครงการโรงแรมศรีพันวา

ส่วนนางสาววรดา ตั้งสืบกุล ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ สายวาณิชธนกิจ 2 ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ SPWPF มีจำนวนเงินทุนโครงการอยู่ที่ 2,001.83 ล้านบาท ราคาเสนอขายอยู่ที่ 10.00 บาทต่อหน่วย ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาคำขออนุมัติจัดตั้งและจัดการกองทุนรวมจากสำนักงานคณะกรรมการ ก.ล.ต. และคาดว่าพร้อมเสนอขายประมาณเดือนกรกฏาคมนี้ โดยสามารถจองซื้อผ่านธนาคารไทยพาณิชย์ ทุกสาขา ด้วยจำนวนจองซื้อขั้นต่ำ 5,000 หน่วย และเพิ่มเป็นทวีคูณของ 1,000 หน่วย โดยการจัดสรรหน่วยให้นักลงทุนทั่วไปจะจัดสรรในรูปแบบ Small Lot First ตามเกณฑ์การจัดสรรที่สำนักงานคณะกรรมการ ก.ล.ต. กำหนด

วันพฤหัสบดีที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2556

แนวทางการลงทุน หุ้น...ผลตอบแทนสูง


หุ้น...ผลตอบแทนสูง ตลาดหุ้นคืออะไร

ลักษณะการหนึ่งของตลาดหุ้น คือ ตลาดหุ้นเป็นแหล่งของร้านอาหารหลาย ๆ ร้าน บริษัท ๆ หลาย ๆ บริษัทมาอยู่รวมกัน เพื่อให้ท่านผู้มีเงินเก็บเหลือ ซึ่งเราเรียกว่า "นักลงทุน" มาร่วมลงทุนและนักลงทุนเหล่านั้นก็จะเป็นหนึ่งในผู้ร่วมถือหุ้นของบริษัท หรือเจ้าของกิจจการการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์จึงเป็นทางเลือกเพื่อการออมเงินในระยะยาวที่ผู้ออมสามารถหลีกเลี่ยง หรือป้องกันการขาดทุนที่เกิดจากระดับอัตราเงินเฟ้อได้ เพราะการลงทุนในหลักทรัพย์จะช่วยรักษามูลค่าที่แท้จริงของเงินลงทุนและให้ผลตอบแทนในรูปของเงินปันผล , กำไรส่วนทุน และสิทธิการจองซื้อหุ้นใหม่ในราคาต่ำแก่ผู้ลงทุนอีกด้วย และหาก ผู้ลงทุนมีความรอบรู้และชาญฉลาดพอ ก็จะสามารถเลือกขายหลักทรัพย์ต่าง ๆ ในระดับราคาและจังหวะเวลาที่ให้ผลตอบแทนสูง

เมื่อบริษัทแห่งหนึ่งมีความต้องการเงินทุนในการขยายกิจการ หรือนำเงินมาใช้ในการดำเนินงาน บริษัทแห่งนี้อาจมีหนทางในการระดมเงินได้ 2 หนทาง คือ

การระดมเงินจากตลาดเงิน (Money Market) เช่น การกู้เงินจากสถาบันการเงิน โดยมีพันธะผูกพันธ์ในการต้องจ่ายดอกเบี้ยให้กับสถาบันการเงินนั้น ๆ
การระดมเงินจากตลาดหุ้น (Capital Market) ซึ่งตลาดทุนจะเป็นแหล่งระดมเงินทุนระยะยาว (เกิน 1 ปี) โดยผู้ที่ต้องการระดมเงินทุนจะออกตราสารทางการเงิน หรือ หลักทรัพย์ในตลาดทุน ซึ่งประกอบด้วย หุ้นสามัญ หุ้นบุริมสิทธิ หุ้นกู้ พันธบัตรรัฐบาล หน่วยลงทุนของ กองทุนรวม ใบสำคัญแสดงสิทธิ เป็นต้น เพื่อขายให้กับบุคคลภายนอกหรือประชาชนสำทับไปในตลาดแรก (Primary Market)
ตลาดรอง (Secondary or Trading Market) ซึ่งจัดตั้งเพื่อทำหน้าที่เป็นแหล่งกลางเสริมสภาพคล่องให้แก่หลักทรัพย์ที่ผ่านการจองซื้อในตลาดแรกให้สามารถซื้อขายเปลี่ยนมือความเป็นเจ้าของหลักทรัพย์ได้ ช่วยสร้างความมั่นคงแก่ผู้ซื้อหลักทรัพย์ในตลาดแรกว่าเขาสามารถขาย หลักทรัพย์นั้น เพื่อเปลี่ยนกลับคืนเป็นเงินสดได้เมื่อต้องการ

หุ้นคืออะไร

หุ้นคือสินค้าในตลาดหลักทรัพย์ ที่เรียกโดยรวมว่า ตราสาร นั้นหมายถึง เอกสารทางการเงินที่บริษัทผู้ออกหลักทรัพย์ออกมาเพื่อระดมเงินจากผู้ลงทุนและเปิดให้มีการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งมีอยู่หลายประเภท ขอยกตัวอย่างดังนี้

หุ้นสามัญ (Common Stock) หุ้นสามัญก็คือหุ้นที่นักลงทุนส่วนใหญ่ในตลาดซื้อขายกันอยู่ และมีจำนวนมากกว่า 80 % ของหุ้นในตลาดทั้งหมด โดยหุ้นสามัญนี้เป็นตราสารประเภทหุ้นทุน ซึ่งออกโดยบริษัทมหาชนจำกัด ที่ต้องการระดมเงินทุนจากประชาชน เพื่อให้คุณได้เข้าไปมีส่วนร่วมในธุรกิจนั้น ๆ โดยตรง ผลตอบแทนที่คุณจะได้โดยตรงก็คือ เงินปันผลจากกำไรในธุรกิจ กำไรจากการขายหุ้นถ้าราคาหุ้นปรับตัวขึ้น และสิทธิในการจองซื้อหุ้นใหม่ ในกรณีที่มีการเพิ่มทุนจดทะเบียน
หุ้นบุริมสิทธิ (Preferred Stock) เป็นตราสารประเภทหุ้นทุน มีข้อแตกต่างจากหุ้นสามัญคือ ผู้ถือหุ้นบุริมสิทธิจะได้รับสิทธิในการชำระคืนเงินทุนก่อนผู้ถือหุ้นสามัญในกรณีที่บริษัทเลิกกิจการ

ใบสำคัญแสดงสิทธิ (Warrant) เป็นตราสารที่ระบุว่าผู้ถือครองจะได้รับสิทธิจองซื้อหุ้นสามัญ หุ้นบุริมสิทธิ หุ้นกู้ หรือตราสารอนุพันธ์ในราคาที่กำหนดเมื่อถึงเวลาที่ระบุไว้ (ซึ่งราคาจองซื้อมักจะกำหนดไว้ต่ำกว่าราคาที่มีการซื้อขายปัจจุบัน ใบสำคัญแสดงสิทธิมักจะออกควบคู่กับการเพิ่มทุนเป็นเทคนิคการตลาดของบริษัทผู้ออกหลักทรัพย์ในการจูงใจ ให้ผู้ลงทุนจองซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุน หุ้นบุริมสิทธิ 

วิธีตรวจสอบธุรกิจด้วยตนเอง

เทคนิคการตรวจสอบสถานะธุรกิจ
- ตรวจสอบตัวเลขทางการเงินต่างๆ
- จัดทำระบบการรายงานตัวเลขต่างๆ ที่สำคัญต่อการตัดสินใจ
- มีการเปรียบเทียบผลจากตัวเลขในรายงานต่างๆ กับประมาณการที่ตั้งไว้
- กำหนดลำดับความสำคัญของตัวเลขต่างๆ
- การแจกจ่ายรายงานทางการเงินต่างๆ ไปยังหน่วยงานที่รับผิดชอบและเกี่ยวข้อง

ทุกเช้าของ "คุณสุพจน์" ประธานบริษัทและเจ้าของกิจการขายเครื่องมือแพทย์ บริษัทเพื่อนแพทย์ หลังจากอ่านหนังสือพิมพ์ประจำวันเสร็จสิ้นแล้ว มักมีกิจวัตรประจำวันในการเดินตรวจตราตามแผนกต่างๆ เนื่องจากเขาตระหนักถึงความจำเป็นในการติดตามสถานะของธุรกิจของเขาเป็นประจำทุกวัน
ภารกิจแรกที่เขาต้องทำ คือ ไปที่แผนกขาย เพื่อพูดคุยกับบรรดาเซลส์แมนของบริษัท และสอบถามถึงยอดใบสั่งซื้อว่าเป็นอย่างไรบ้าง ช่วงสายๆ เขาจะเดินไปยังแผนกการเงิน เช็คยอดลูกหนี้คงค้างที่มีอยู่และคำถามที่ติดปากคงหนีไม่พ้น "วันนี้เราเก็บเช็คได้กี่ใบ" จากนั้นจะเดินไปที่แผนกจัดส่งสินค้า เพื่อตรวจสอบการจัดส่งว่ามีปัญหาอะไรหรือไม่ มีสินค้าส่งออกไปปริมาณมากน้อยแค่ใหน การจัดส่งตรงตามเวลาที่สัญญากับลูกค้าหรือไม่
ระบบติดตามของคุณสุพจน์ แม้จะดูว่าเป็นระบบง่ายๆ แต่ก็ทำให้เขาสามารถติดตามสถานะของกิจการได้ตลอดเวลา และเมื่อมีปัญหาอะไรเกิดขึ้นก็สามารถติดตามแก้ไขได้ทันท่วงที
ในฐานะเถ้าแก่ คงปฏิเสธไม่ได้ถึงความสำคัญในการตรวจสอบสถานะธุรกิจของท่านเป็นประจำเช่นเดียวกับเถ้าแก่สุพจน์ ยิ่งในสถาวะเศรษฐกิจวิกฤติสภาพคล่องติดขัด ลูกค้าหดหาย ยอดขายตกต่ำ ลูกหนี้ไม่ยอมจ่ายหนี้ ยิ่งเราสามารถติดตามสถานะของกิจการและรับรู้ปัญหาได้รวดเร็วเท่าใด เราก็จะสามารถคิดหาแนวทางในการแก้ปัญหาได้รวดเร็วและทันกาลเท่านั้น
เถ้าแก่สามารถคุมสถานการณ์ของธุรกิจอย่างใกล้ชิดแบบง่าย ประกอบด้วย 5 ขั้นตอนใหญ่ เริ่มจาก
ทั้งนี้งบการเงิน ถือเป็นคู่มือตรวจเช็คสถานะธุรกิจที่ดีที่สุด เถ้าแก่ควรจัดให้เจ้าหน้าที่ทางบัญชีสามารถรายงานงบการเงินต่างๆ ไม่ว่างบกำไรขาดทุน งบดุล งบกระแสเงินสด โดยกำหนดให้รายงานภายใน 10 วัน นับจากวันสิ้นเดือน เพื่อจะได้รู้สถานะทางการเงินไม่ว่าในรูปเงินสด ลูกหนี้คงค้าง สินค้าคงเหลือหรือภาระหนี้สินต่างๆ เช่น เจ้าหนี้การค้าเงินกู้หรือดอกเบี้ยที่จะถึงกำหนดชำระ และผลการดำเนินงานในแต่ละช่วงในรูป ยอดขาย ยอดค่าใช้จ่าย ผลกำไร ฯลฯ
ส่วนใหญ่ธุรกิจขนาดย่อมมักไม่สนใจจัดให้มีระบบการรายงานและจัดทำบัญชีอย่างทันกาล เถ้าแก่จึงมักต้องใช้วิธีนั่งเทียน คาดเดาตัวเลขต่างๆ ด้วยตัวเอง ทำให้เสียทั้งโอกาสในการลงทุน กรณีเงินสดเหลือและอาจเกิดวิกฤติจัดหาเงินทุนหมุนไม่ทันกรณีธุรกิจขาดเงิน
ตัวเลขต่างๆ ที่เถ้าแก่ใช้ในการบริหารงานนั้น บางตัวเลขมีความสำคัญมาก บ่งบอกถึงความเป็นตายของธุรกิจ เช่น ยอดขาย ยอดลูกหนี้ค้างชำระ ฯลฯ ดังนั้น จึงจำเป็นที่เถ้าแก่จะต้องจัดให้มีเจ้าหน้าที่คอยดูแลตัวเลขต่างๆ เหล่านี้อย่างใกล้ชิด พร้อมจัดทำรายงานเป็นรายวัน รายสัปดาห์ รายเดือนแล้วแต่ลำดับความสำคัญของตัวเลขเหล่านั้น
ตัวอย่างรายงานต่างๆ ที่ควรจัดให้มีประกอบด้วยรายงานรายเดือนที่แจกแจง ยอดสินค้าคงเหลือ ยอดลูกหนี้ค้างชำระ (แบ่งแยกตามกำหนดค้างชำระ และคำนวณวันถัวเฉลี่ยในการเก็บหนี้ด้วย) ยอดเจ้าหนี้ค้างจ่าย (แบ่งแยกตามกำหนดค้างชำระ และคำนวณถัวเฉลี่ยในการจ่ายหนี้ด้วย) เป็นต้น
หรือการจัดทำรายงานรายสัปดาห์ประกอบด้วย ยอดเงินสดคงเหลือ ยอดเงินสดจ่าย โดยเฉพาะบิลจ่ายจำนวนใหญ่ๆ ยอดเงินสดรับ ยอดขายจากลูกค้ารายใหม่ๆ ยอดสั่งซื้อที่ค้างอยู่ จำนวนพนักงาน โดยคิดคำนวณเป็นยอดขายต่อหัว เพื่อวัดประสิทธิภาพในการดำเนินงาน
เถ้าแก่คงต้งนำตัวเลขที่ปรากฎในรายงานการเงินมาวิเคราะห์เจาะลึกประกอบการตัดสินใจในการบริหาร เช่น เราทราบว่า จำนวนวันถัวเฉลี่ยในการเก็บหนี้บ่งบอกเวลาที่ลูกหนี้ค้างชำระกิจการ ในขณะที่จำนวนวันถัวเฉลี่ยในการจ่ายหนี้ บอกเวลาที่เราค้างชำระหนี้ กรณีที่จำนวนวันถัวเฉลี่ยในการเก็บหนี้มากกว่าจำนวนวันถัวเฉลี่ยในการจ่ายหนี้ หมายความว่า เถ้าแก่ต้องจัดเตรียมเงินของตนไว้เผื่อเท่ากับปริมาณเงินที่ใช้ต่อวัน คูณด้วยจำนวนวันถัวเฉลี่ยที่เหลื่อมกันนั้น
พร้อมกับการเปรียบเทียบผลจากตัวเลขในรายงานต่างๆ กับประมาณการที่ตั้งไว้
ตัวอย่าง เถ้าแก่เคยประมาณว่ายอดขายในเดือนนี้ควรเป็น 3 แสนบาท แต่ปรากฎว่าตัวเลขยอดขายจริงมีเพียงครึ่งเดียว 150,000 บาท เถ้าแก่คงจะต้องสอบถามพนักงานขายว่า ทำไมยอดขายจึงลดต่ำลงเป็นผลจากอะไร อาจเกิดจากสินค้าผลิตไม่ทัน หรือลูกค้าลด ยอดซื้อลง ถ้าทราบว่าเกิดจากคู่แข่งลดราคาสินค้าลงหรือมีโปรโมชั่นพิเศษ
เพราะตัวเลขบางรายการมีความสำคัญอย่างมากในการตัดสินใจ เช่น ยอดขายและยอดลูกหนี้ค้างชำระ ซึ่งตัวเลข 2 ตัวนี้คือที่มาของแหล่งเงินสดรับส่วนใหญ่ของกิจการขณะที่ยอดค้างจ่ายเจ้าหนี้เงินกู้และดอกเบี้ยต่างๆ จะถือเป็นรายการใหญ่ของเงินสดจ่ายของกิจการ
เถ้าแก่คงต้องติดตามดูแลรายการเหล่านี้อย่างใกล้ชิด โดยจัดให้มีการรายงานตัวเลขต่างๆ เหล่านี้เป็นประจำและทันท่วงที อาจไม่สามารถรอตัวเลขจากทางบัญชีที่สรุปเป็นรายเดือน คงต้องขอตัวเลขเหล่านี้จากฝ่ายบัญชีการเงินและฝ่ายขายให้สรุปออกมาเป็นรายสัปดาห์หรือรายวันแล้วแต่สถานการณ์ของกิจการ เพื่อเป็นข้อมูลในมือของเถ้าแก่ในการจัดการธุรกิจ และปรับกลยุทธ์ได้อย่างรวดเร็ว
เพื่อให้เกิดการรัีบรู้และรับผิดชอบต่อผลของตัวเลขเหล่านั้น พร้อมคันหาสาเหตุของความแตกต่างระหว่างตัวเลขจริงกับที่ประมาณไว้และหาแนวทางแก้ไข เพราะคงไม่มีผู้รู้ที่มาของตัวเลขต่างๆ ดีเท่าผู้ก่อให้เกิดตัวเลขนั้นๆ
การสร้างระบบให้ผู้สร้างตัวเลขต้องรับผิดชอบต่อตัวเลขจะเป็นวิธีการสร้างประสิทธิภาพในการทำงานแก่เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน
เป็นความจำเป็นอย่างยิ่งที่เถ้าแก่ต้องติดตามและทำความเข้าใจที่ไปที่มาของตัวเลขต่างๆ ได้ด้วยตนเองแม้ว่าจะจ้างนักบัญชีมาคอยจัดทำและดูแลตัวเลขเหล่านั้นแล้วก็ตาม
มิฉะนั้นเถ้าแก่คงไม่สามารถปรับเปลี่ยนกลยุทธ์บริหารธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ และปกป้องธุรกิจให้ผ่านพ้นช่วงวิกฤติแต่ละช่วงไปได้ด้วยดี
การวิเคราะห์ศึกษาและติดตามตรวจสอบสภาพของธุรกิจอยู่ตลอดเวลา นอดจากนำตัวเลขแต่ละช่วงเวลามาเปรียบเทียบกันและการหาสาเหตุการเปลี่ยนแปลงของตัวเลขแล้ว เถ้าแก่ควรนำตัวเลขเหล่านั้นเปรียบเทียบคู่แข่งในอุตสาหกรรมเดียวกัน เพื่อให้ทราบตำแหน่งและประสิทธิภาพของตนเมื่อเปรียบเทียบกับผู้อื่นในอุตสาหกรรม
การเปรียบเทียบอาจทำได้หลายรูปแบบ ไม่ว่าในรูปแบบเปอร์เซ็นต์แบบง่ายๆ เช่น การเปรียบเทียบรายได้ และค่าใช้จ่ายของธุรกิจของตนต่อยอดขายทั้งหมดของอุตสาหกรรมโดยรวม หรือในรูปอัตราส่วนทางการเงินต่างๆ ซึ่งใช้กันอยู่ทั่วไป

การค้าระหว่างประเทศ "เติบโตของเศรษฐกิจ"

ความคิดเปิดผนึก
วิวาทะว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศและการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ
อนุวัฒน์ ชลไพศาล

ในฐานะที่ผมถูก ฝึกหัดให้เป็นนักเศรษฐศาสตร์ (คำกริยา ฝึกหัด” (to train) เป็นคำกริยาเดียวกันกับคำที่ใช้กับ นกที่ ฝึกหัดให้เลือกจิกอาหาร หรือ สุนัขที่ ฝึกหัดให้ยืนด้วย 2 ขาหลังแล้วจะได้รับรางวัล) ผมเคยเชื่อเสมอว่า การเพิ่มพูนการค้าระหว่างประเทศจะนำมาซึ่งการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่ปัจจุบัน ผมเริ่มลังเลใจ  เรื่องมันเป็นอย่างนี้ครับ ในฐานะนักเรียนวิชาเศรษฐศาสตร์เราเชื่อว่า เมื่อแต่ละประเทศมีความถนัดในการผลิตสินค้าแต่ละชนิดไม่เท่ากัน ดังนั้น ถ้าให้แต่ละประเทศผลิตสินค้าที่ตนถนัดมากที่สุด แล้วนำมาค้าขายกัน จะทำให้ทุกประเทศมีสินค้าและบริการให้บริโภคเพิ่มขึ้น ซึ่งเท่ากับ การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น (แต่จะเท่ากับมีความสุขเพิ่มขึ้นหรือไม่เป็นอีกเรื่องที่เถียงกันได้)  นโยบายการค้าระหว่างประเทศโดยเสรีจะทำให้ประชากรโลกมีสินค้าและบริการให้บริโภคมากกว่าที่จะให้แต่ละประเทศผลิตสินค้าทุกชนิดแล้วไม่ค้าขายกัน (สมมติให้โลกประกอบด้วยประเทศ 2 ประเทศ คือ A และ B แต่ละประเทศเลือกผลิตสินค้า 2 ชนิด คือ X และ Y โดยประเทศ A ผลิตสินค้า X เก่งกว่า (ใช้ปัจจัยการผลิตน้อยกว่า) ประเทศ B และ ประเทศ B ผลิตสินค้า Y เก่งกว่าประเทศ A หากเราให้ประเทศ A ผลิตแต่สินค้า X และประเทศ B ผลิตแต่สินค้า Y แล้วมาค้าขายกัน จะทำให้โลกมีสินค้า X และ Y ให้บริโภคมากกว่าที่จะให้ประเทศ A และ B ผลิตทั้งสินค้า X และY) นักเรียนวิชาเศรษฐศาสตร์คุ้นๆ ไหมครับ  ความข้างต้นยังเป็นจริงแม้ในกรณีที่ประเทศ A จะผลิตทั้งสินค้า X และ Y เก่งกว่าประเทศ B นักเศรษฐศาสตร์ขนานนามปรากฏการณ์ (หรือความเชื่อ) ดังกล่าวว่า ความได้เปรียบโดยเปรียบเทียบ” (Comparative Advantage) แบบจำลองง่ายๆ ข้างต้น มีผลซับซ้อน  ผู้มีอำนาจในการกำหนดนโยบายใช้ลำดับเหตุผลจากแบบจำลอง ในการสนับสนุนนโยบายการเปิดเสรีการค้าขายกับต่างประเทศ, การเจรจาเขตการค้าเสรีระหว่างประเทศ (FTA), ส่งเสริมผู้ผลิตสินค้า OTOP ในการส่งออก โดยเชื่อว่า นโยบายการค้าระหว่างประเทศที่ดีเท่ากับนโยบายการค้าเสรี เพราะจะนำมาซึ่งสินค้าและบริการให้บริโภคเพิ่มขึ้นและการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ  คนส่วนใหญ่ใช้ลำดับเหตุผลข้างต้น ปิดปากคนส่วนน้อยที่ไม่เห็นด้วยกับนโยบายการค้าเสรีระหว่างประเทศ และ ขับไล่คนที่ไม่เห็นด้วยดังกล่าวไปเป็นฤษีชีไพรในป่าที่ไม่เห็นประโยชน์จากการติดต่อค้าขายกับผู้คน  ผมเห็นว่า ลำดับเหตุผลจากแบบจำลองง่ายๆ ข้างต้นสามารถอธิบายว่า เหตุใดสังคมปัจจุบันมีแนวโน้มที่จะตีความพฤติกรรมการเก็บตัว ไม่สุงสิงกับใครในระดับปัจเจกว่า เป็นเรื่องผิดปรกติ (ก็คนปรกติเขาต้องเข้าสังคม และ นโยบายการค้าปรกติเท่ากับนโยบายการค้าเสรีไงครับ)  อย่างไรก็ตาม ผู้อ่านที่มีความละเอียดลออ (Rigorous) ก็ไม่ควรหลงเชื่ออะไรง่ายๆ โดยปราศจากหลักฐานเชิงประจักษ์ (Empirical Evidence) มาพิสูจน์ความเชื่อ  ความเชื่อเรื่องการเพิ่มพูนของการค้าระหว่างประเทศจะนำมาซึ่งความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ เป็นวิวาทะในวงการเศรษฐศาสตร์ระหว่าง World Bank (1993) และ Cline (1982)  ด้านหนึ่ง World Bank (1993) อธิบายการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกระหว่างปี 2508-2533 ว่า เกิดจากการที่รัฐบาลในเอเชียตะวันออกดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจที่ เป็นมิตรกับตลาด” (Market Friendly) โดยปัจจัยสำคัญอันนำมาซึ่งการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ คือ การส่งออก (Export as an Engine of Growth) งานวิจัยของธนาคารโลกฉบับนี้ยังเสนอคำแนะนำต่อว่า ประสบการณ์ความสำเร็จจากการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของเอเชียตะวันออก ควรเป็นแบบจำลองของยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจ (Development Model) ที่กลุ่มประเทศยากจนต่างๆ ควรดำเนินรอยตาม  อีกด้านหนึ่ง งานวิจัยจำนวนไม่น้อยตั้งข้อสงสัยว่า สหสัมพันธ์ระหว่างการส่งออกและการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจมีมากน้อยเพียงใด และ การส่งออกเป็นปัจจัยกำหนดการเจริญเติบโต หรือ เป็นไปในทิศทางตรงกันข้าม  Cline (1982) เสนอว่า คำแนะนำของธนาคารโลกที่ต้องการให้กลุ่มประเทศยากจนต่างๆ ใช้ยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมโดยเน้นการส่งเสริมการส่งออก (Export-Orientation Strategy) เป็นความหลงผิดในการใช้เหตุผล ที่เรียกว่า “Fallacy of Composition” เพราะ ยุทธศาสตร์การพัฒนาโดยเน้นการส่งเสริมการส่งออกจะประสบผลสำเร็จ ก็ต่อเมื่อ มีบางประเทศที่ใช้ยุทธศาสตร์การพัฒนาดังกล่าวเท่านั้น แต่หากทุกประเทศใช้ยุทธศาสตร์ส่งเสริมการส่งออกแบบเดียวกัน ในช่วงเวลาเดียวกัน จะทำให้โลกประสบภาวะปริมาณการผลิตสินค้าล้นเกิน และ การกีดกันการค้าระหว่างประเทศ  พูดอีกนัยหนึ่ง คำแนะนำเรื่องยุทธศาสตร์การพัฒนาโดยเน้นการส่งออกของธนาคารโลกเป็นคำแนะนำที่นำไปสู่การ ทำลายตนเอง” (ใช้ศัพท์ฝ่ายซ้าย) เพราะข้อแนะนำในเบื้องแรกที่หวังให้ทุกประเทศมีนโยบายการค้าเสรีระหว่างประเทศ จะนำมาซึ่งนโยบายการกีดกันการค้าในท้ายที่สุด   งานศึกษาใหม่ๆ ในประเด็นวิวาทะนี้ อาทิ Hallak and Levinsohn (2004) เสนอประเด็นเพิ่มเติม คือ หนึ่ง ผลของงานศึกษาเชิงประจักษ์ในอดีตไม่สามารถสรุปว่า การเพิ่มพูนการค้าระหว่างประเทศเป็นเหตุทำให้อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นเสมอไป  สอง วิธีการศึกษาในอดีตโดยการหาสหสัมพันธ์ทางสถิติระหว่างปริมาณการค้า, ระดับการเปิดประเทศ (Degree of Openness) กับ อัตรการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ มักประสบปัญหาไม่สามารถระบุว่าตัวแปรใดเป็นเหตุหรือเป็นผล (Causality Problem) และงานศึกษาเชิงประจักษ์ในอดีตจำนวนมากก็ขาดการนำตัวแปรที่ครบถ้วนร่วมพิจารณาในการศึกษา เช่น ปัจจัยทางภูมิศาสตร์ และสถาบัน เป็นต้น ทำให้ผลการศึกษาไม่น่าเชื่อถือ ทั้งยังไม่เกิดประโยชน์ในการกำหนดนโยบายการค้าระหว่างประเทศที่เหมาะสม  Hallak and Levinsohn (2004) เสนอว่า งานศึกษาในอนาคตนอกจากต้องแก้ปัญหาอันเนื่องมาจากวิธีการศึกษาที่บกพร่องข้างต้น ยังต้องตั้งคำถามของการศึกษาให้เล็กลงกว่าเดิม เช่น ผลของนโยบายการค้าเสรีต่อสินค้า X หรือ Y ไม่ใช่ ต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ A หรือ B ดังเช่นแต่ก่อนในยุคที่รัฐบาลใช้ความเชื่อเรื่องประโยชน์จากการเพิ่มพูนการค้าเพื่อสร้างความชอบธรรมในการเจรจาเปิดเสรีการค้าระหว่างประเทศดังเช่นปัจจุบัน ผมเห็นว่า เราควรตั้งข้อสงสัยต่อความเชื่อที่ว่า การเพิ่มพูนการค้าระหว่างประเทศจะนำมาซึ่งความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเสมอ และแม้ว่า ความเชื่อดังกล่าวจะถูกพิสูจน์ด้วยหลักฐานว่าเป็นจริง เราก็ควรทบทวนว่า สังคมจะมีวิธีการจัดสรรผลประโยชน์และต้นทุนจากการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจแก่สมาชิกในสังคมอย่างไร และท้ายสุด เราควรตั้งคำถามด้วยว่า การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นเป้าหมายการพัฒนาเศรษฐกิจเพียงหนึ่งเดียวที่เราควรมุ่งไปหรือไม่