วันพฤหัสบดีที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2556

การค้าระหว่างประเทศ "เติบโตของเศรษฐกิจ"

ความคิดเปิดผนึก
วิวาทะว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศและการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ
อนุวัฒน์ ชลไพศาล

ในฐานะที่ผมถูก ฝึกหัดให้เป็นนักเศรษฐศาสตร์ (คำกริยา ฝึกหัด” (to train) เป็นคำกริยาเดียวกันกับคำที่ใช้กับ นกที่ ฝึกหัดให้เลือกจิกอาหาร หรือ สุนัขที่ ฝึกหัดให้ยืนด้วย 2 ขาหลังแล้วจะได้รับรางวัล) ผมเคยเชื่อเสมอว่า การเพิ่มพูนการค้าระหว่างประเทศจะนำมาซึ่งการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่ปัจจุบัน ผมเริ่มลังเลใจ  เรื่องมันเป็นอย่างนี้ครับ ในฐานะนักเรียนวิชาเศรษฐศาสตร์เราเชื่อว่า เมื่อแต่ละประเทศมีความถนัดในการผลิตสินค้าแต่ละชนิดไม่เท่ากัน ดังนั้น ถ้าให้แต่ละประเทศผลิตสินค้าที่ตนถนัดมากที่สุด แล้วนำมาค้าขายกัน จะทำให้ทุกประเทศมีสินค้าและบริการให้บริโภคเพิ่มขึ้น ซึ่งเท่ากับ การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น (แต่จะเท่ากับมีความสุขเพิ่มขึ้นหรือไม่เป็นอีกเรื่องที่เถียงกันได้)  นโยบายการค้าระหว่างประเทศโดยเสรีจะทำให้ประชากรโลกมีสินค้าและบริการให้บริโภคมากกว่าที่จะให้แต่ละประเทศผลิตสินค้าทุกชนิดแล้วไม่ค้าขายกัน (สมมติให้โลกประกอบด้วยประเทศ 2 ประเทศ คือ A และ B แต่ละประเทศเลือกผลิตสินค้า 2 ชนิด คือ X และ Y โดยประเทศ A ผลิตสินค้า X เก่งกว่า (ใช้ปัจจัยการผลิตน้อยกว่า) ประเทศ B และ ประเทศ B ผลิตสินค้า Y เก่งกว่าประเทศ A หากเราให้ประเทศ A ผลิตแต่สินค้า X และประเทศ B ผลิตแต่สินค้า Y แล้วมาค้าขายกัน จะทำให้โลกมีสินค้า X และ Y ให้บริโภคมากกว่าที่จะให้ประเทศ A และ B ผลิตทั้งสินค้า X และY) นักเรียนวิชาเศรษฐศาสตร์คุ้นๆ ไหมครับ  ความข้างต้นยังเป็นจริงแม้ในกรณีที่ประเทศ A จะผลิตทั้งสินค้า X และ Y เก่งกว่าประเทศ B นักเศรษฐศาสตร์ขนานนามปรากฏการณ์ (หรือความเชื่อ) ดังกล่าวว่า ความได้เปรียบโดยเปรียบเทียบ” (Comparative Advantage) แบบจำลองง่ายๆ ข้างต้น มีผลซับซ้อน  ผู้มีอำนาจในการกำหนดนโยบายใช้ลำดับเหตุผลจากแบบจำลอง ในการสนับสนุนนโยบายการเปิดเสรีการค้าขายกับต่างประเทศ, การเจรจาเขตการค้าเสรีระหว่างประเทศ (FTA), ส่งเสริมผู้ผลิตสินค้า OTOP ในการส่งออก โดยเชื่อว่า นโยบายการค้าระหว่างประเทศที่ดีเท่ากับนโยบายการค้าเสรี เพราะจะนำมาซึ่งสินค้าและบริการให้บริโภคเพิ่มขึ้นและการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ  คนส่วนใหญ่ใช้ลำดับเหตุผลข้างต้น ปิดปากคนส่วนน้อยที่ไม่เห็นด้วยกับนโยบายการค้าเสรีระหว่างประเทศ และ ขับไล่คนที่ไม่เห็นด้วยดังกล่าวไปเป็นฤษีชีไพรในป่าที่ไม่เห็นประโยชน์จากการติดต่อค้าขายกับผู้คน  ผมเห็นว่า ลำดับเหตุผลจากแบบจำลองง่ายๆ ข้างต้นสามารถอธิบายว่า เหตุใดสังคมปัจจุบันมีแนวโน้มที่จะตีความพฤติกรรมการเก็บตัว ไม่สุงสิงกับใครในระดับปัจเจกว่า เป็นเรื่องผิดปรกติ (ก็คนปรกติเขาต้องเข้าสังคม และ นโยบายการค้าปรกติเท่ากับนโยบายการค้าเสรีไงครับ)  อย่างไรก็ตาม ผู้อ่านที่มีความละเอียดลออ (Rigorous) ก็ไม่ควรหลงเชื่ออะไรง่ายๆ โดยปราศจากหลักฐานเชิงประจักษ์ (Empirical Evidence) มาพิสูจน์ความเชื่อ  ความเชื่อเรื่องการเพิ่มพูนของการค้าระหว่างประเทศจะนำมาซึ่งความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ เป็นวิวาทะในวงการเศรษฐศาสตร์ระหว่าง World Bank (1993) และ Cline (1982)  ด้านหนึ่ง World Bank (1993) อธิบายการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกระหว่างปี 2508-2533 ว่า เกิดจากการที่รัฐบาลในเอเชียตะวันออกดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจที่ เป็นมิตรกับตลาด” (Market Friendly) โดยปัจจัยสำคัญอันนำมาซึ่งการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ คือ การส่งออก (Export as an Engine of Growth) งานวิจัยของธนาคารโลกฉบับนี้ยังเสนอคำแนะนำต่อว่า ประสบการณ์ความสำเร็จจากการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของเอเชียตะวันออก ควรเป็นแบบจำลองของยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจ (Development Model) ที่กลุ่มประเทศยากจนต่างๆ ควรดำเนินรอยตาม  อีกด้านหนึ่ง งานวิจัยจำนวนไม่น้อยตั้งข้อสงสัยว่า สหสัมพันธ์ระหว่างการส่งออกและการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจมีมากน้อยเพียงใด และ การส่งออกเป็นปัจจัยกำหนดการเจริญเติบโต หรือ เป็นไปในทิศทางตรงกันข้าม  Cline (1982) เสนอว่า คำแนะนำของธนาคารโลกที่ต้องการให้กลุ่มประเทศยากจนต่างๆ ใช้ยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมโดยเน้นการส่งเสริมการส่งออก (Export-Orientation Strategy) เป็นความหลงผิดในการใช้เหตุผล ที่เรียกว่า “Fallacy of Composition” เพราะ ยุทธศาสตร์การพัฒนาโดยเน้นการส่งเสริมการส่งออกจะประสบผลสำเร็จ ก็ต่อเมื่อ มีบางประเทศที่ใช้ยุทธศาสตร์การพัฒนาดังกล่าวเท่านั้น แต่หากทุกประเทศใช้ยุทธศาสตร์ส่งเสริมการส่งออกแบบเดียวกัน ในช่วงเวลาเดียวกัน จะทำให้โลกประสบภาวะปริมาณการผลิตสินค้าล้นเกิน และ การกีดกันการค้าระหว่างประเทศ  พูดอีกนัยหนึ่ง คำแนะนำเรื่องยุทธศาสตร์การพัฒนาโดยเน้นการส่งออกของธนาคารโลกเป็นคำแนะนำที่นำไปสู่การ ทำลายตนเอง” (ใช้ศัพท์ฝ่ายซ้าย) เพราะข้อแนะนำในเบื้องแรกที่หวังให้ทุกประเทศมีนโยบายการค้าเสรีระหว่างประเทศ จะนำมาซึ่งนโยบายการกีดกันการค้าในท้ายที่สุด   งานศึกษาใหม่ๆ ในประเด็นวิวาทะนี้ อาทิ Hallak and Levinsohn (2004) เสนอประเด็นเพิ่มเติม คือ หนึ่ง ผลของงานศึกษาเชิงประจักษ์ในอดีตไม่สามารถสรุปว่า การเพิ่มพูนการค้าระหว่างประเทศเป็นเหตุทำให้อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นเสมอไป  สอง วิธีการศึกษาในอดีตโดยการหาสหสัมพันธ์ทางสถิติระหว่างปริมาณการค้า, ระดับการเปิดประเทศ (Degree of Openness) กับ อัตรการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ มักประสบปัญหาไม่สามารถระบุว่าตัวแปรใดเป็นเหตุหรือเป็นผล (Causality Problem) และงานศึกษาเชิงประจักษ์ในอดีตจำนวนมากก็ขาดการนำตัวแปรที่ครบถ้วนร่วมพิจารณาในการศึกษา เช่น ปัจจัยทางภูมิศาสตร์ และสถาบัน เป็นต้น ทำให้ผลการศึกษาไม่น่าเชื่อถือ ทั้งยังไม่เกิดประโยชน์ในการกำหนดนโยบายการค้าระหว่างประเทศที่เหมาะสม  Hallak and Levinsohn (2004) เสนอว่า งานศึกษาในอนาคตนอกจากต้องแก้ปัญหาอันเนื่องมาจากวิธีการศึกษาที่บกพร่องข้างต้น ยังต้องตั้งคำถามของการศึกษาให้เล็กลงกว่าเดิม เช่น ผลของนโยบายการค้าเสรีต่อสินค้า X หรือ Y ไม่ใช่ ต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ A หรือ B ดังเช่นแต่ก่อนในยุคที่รัฐบาลใช้ความเชื่อเรื่องประโยชน์จากการเพิ่มพูนการค้าเพื่อสร้างความชอบธรรมในการเจรจาเปิดเสรีการค้าระหว่างประเทศดังเช่นปัจจุบัน ผมเห็นว่า เราควรตั้งข้อสงสัยต่อความเชื่อที่ว่า การเพิ่มพูนการค้าระหว่างประเทศจะนำมาซึ่งความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเสมอ และแม้ว่า ความเชื่อดังกล่าวจะถูกพิสูจน์ด้วยหลักฐานว่าเป็นจริง เราก็ควรทบทวนว่า สังคมจะมีวิธีการจัดสรรผลประโยชน์และต้นทุนจากการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจแก่สมาชิกในสังคมอย่างไร และท้ายสุด เราควรตั้งคำถามด้วยว่า การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นเป้าหมายการพัฒนาเศรษฐกิจเพียงหนึ่งเดียวที่เราควรมุ่งไปหรือไม่

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น