วันอังคารที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

การวิเคราะห์การตั้งถิ่นฐาน


                 
                การพิจารณาวิเคราะห์การตั้งถิ่นฐานของคนในอดีตสัมพันธ์กับการใช้ความรู้ทางภูมิศาสตร์การตั้งถิ่นฐาน แหล่งน้ำ สภาพความเหมาะสมของดินกับการดำรงชีพของมนุษย์ในอดีต ซึ่งปัจจัยที่สำคัญก็คือ การทำความเข้าใจสภาพที่แท้จริงในอดีต ความเป็นไปได้ของสภาพแวดล้อมในอดีต ซึ่งแตกต่างจากปัจจุบัน ปัจจัยสำคัญของการวิเคราะห์โบราณคดีการตั้งถิ่นฐาน คือ ชุมชน การจัดระเบียบทางสังคม เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม ชาเรอร์ และอาชมอร์ (Sharer and Ashmore, 1979 : 423) จัดระดับของการวิเคราะห์แบบแผนการตั้งถิ่นฐานของชุมชนในอดีตไว้ 3 ระดับ คือ
             1. หน่วยเล็กที่สุดอันหมายถึง การศึกษากิจกรรมที่เกิดขึ้นในเฉพาะพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง เช่น ในถ้ำ บ้านเรือนที่อยู่อาศัย
                  2. ความสัมพันธ์ระหว่างบ้านเรือน หรือความสัมพันธ์ภายในกลุ่ม ซึ่งอยู่ในขอบเขตพื้นที่เดียวกัน เช่น เนินดิน
                  3. การศึกษาโดยกว้าง คือ การวิเคราะห์การกระจายของกลุ่มชุมชนความสัมพันธ์ระหว่าง ชุมชนแต่ละแห่งในอาณาบริเวณเดียวกันหรือใกล้เคียงกันทางด้านแนวทางในการวิเคราะห์นั้น ทริกเกอร์ (Trigger,1968 : 54 ) เสนอว่ามีแนวทางหลักในการวิเคราะห์การตั้งถิ่นฐานของคนในอดีต 2 ประการ คือ               

      ประการแรก คือแนวทางการวิเคราะห์เชิงนิเวศน์วิทยาเทคโนโลยี และสภาพแวดล้อมซึ่งเป็นการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่าง มนุษย์กับระบบนิเวศน์วิทยา ในการตีความแบบแผนของการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ในเบื้องต้น เพื่อที่จะให้เข้าใจถึงความสัมพันธ์ระหว่างระบบสังคมเทคโนโลยีและสภาพแวดล้อม 
      
      ประการที่สอง คือการทำความเข้าใจในแง่ลึกถึงการจัดระเบียบทางสังคม การตี
ความหมายทางวัฒนธรรมอันเกิดจากการปรับตัวกับสภาพแวดล้อม

ลักษณะและรูปแบบการตั้งถิ่นฐาน


     ลักษณะและรูปแบบของการตั้งถิ่นฐานเป็นสิ่งสะท้อนให้เห็นถึงการปรับตัวของมนุษย์กับสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติและสัมพันธ์กับแบบแผนทางวัฒนธรรม ตลอดจนประเพณีความเชื่อของกลุ่มชนต่าง เหล่านั้น ลักษณะของการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์มีความสัมพันธ์กับลักษณะสภาพแวด ล้อมและเศรษฐกิจการดำรงชีพซึ่งลักษณะการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์มี 3 ลักษณะ คือ
            1. การตั้งถิ่นฐานแบบชั่วคราว
เป็นการตั้งถิ่นฐานอยู่ในพื้นที่ช่วงระยะเวลาสั้น ๆ และมีการเคลื่อนย้ายไปยังบริเวณอื่น การตั้งถิ่นฐานลักษณะนี้เป็นการดำรงอยู่ของกลุ่มชนที่พึ่งพาความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรตามธรรมชาติเช่น สัตว์ป่า พืชพันธุ์ แหล่งน้ำ และความอุดมสมบูรณ์ของดิน ลักษณะของการตั้งถิ่นฐานแบบชั่วคราวทำให้กลุ่มชนที่รวมตัวกันตั้งถิ่นฐานมีขนาดไม่ใหญ่ เนื่องจากข้อจำกัดของทรัพยากรและความสะดวกในการเคลื่อนย้าย รูปแบบการดำรงชีพของการตั้งถิ่นฐานแบบชั่วคราวมีลักษณะการประกอบอาชีพอย่างง่ายอันประกอบไปด้วย
              1 การล่าสัตว์และเก็บเกี่ยวพืชพันธุ์ (Hunting and Gathering) กลุ่มชนที่ดำรงชีพอยู่ด้วยการเก็บ
ของป่าและล่าสัตว์ส่วนใหญ่มีเทคโนโลยีแบบง่าย ๆ เช่น การใช้เครื่องมือหิน และเครื่องมืออย่างง่ายอื่น ๆ ซึ่งอาจอาศัยอยู่ตามเพิงผาหรือถ้ำ หรือบริเวณพื้นที่ราบเชิงเขา
             2. การเร่ร่อนเลี้ยงสัตว์ (Normadic Herding) การเร่ร่อนเลี้ยงสัตว์คือ กลุ่มชนที่เลี้ยงสัตว์ที่กินพืชเป็นอาหารเป็นฝูง และเคลื่อนย้ายไ ปตามฤดูกาล


       2. การตั้งถิ่นฐานแบบกึ่งถาวร
เป็นการตั้งถิ่นฐานและการอยู่อาศัยโดยมีพื้นฐานการดำรงชีพด้วยการเพาะปลูก แต่เป็นการเพาะปลูกแบบไร่เลื่อนลอย (Shifting Cultivation) และการเพาะปลูกพืชไร่ซึ่งรูปแบบของการเกษตรกรรม คือ การหักร้างถางป่า แล้วเผา ใช้เครื่องมืออย่างง่าย ขุดและหยอดเมล็ดพืชเมื่อความอุดมสมบูรณ์ของดินลดลงเพาะปลูกพืชไม่ได้ผล กลุ่มคนก็จะเคลื่อนย้ายถิ่นไปหักร้างถางป่าเพื่อหาที่ทำกินใหม่ลักษณะการตั้งถิ่นฐานแบบนี้ส่วนใหญ่อยู่ตามลักษณะภูมิประเทศที่ราบเชิงเขา


       3. การตั้งถิ่นฐานแบบถารวร
ตั้งถิ่นฐานหลักแหล่งที่แน่นอน มีการเคลื่อนย้ายถิ่นน้อยหรืออาจไม่เคลื่อนย้ายถิ่นฐานเลย พื้นฐานของการตั้งถิ่นฐานรูปแบบนี้เป็นการตั้งถิ่นฐานเพื่อการเพาะปลูกเช่นเดียวกัน แต่การเพาะปลูกเป็นการเพาะปลูกพืชที่มีการหมุนเวียนเพื่อรักษาความอุดมสมบูรณ์ของดินหรือการตั้งถิ่นฐานเพื่อเพาะปลูกในบริเวณที่ราบลุ่มซึ่งมีความอุดมสมบูรณ์ของดินจากตะกอนลำน้ำ


 

วันเสาร์ที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

กูรูอสังหาฯไม่เห็นด้วยกับผังเมืองใหม่กรุงเทพ

กูรูอสังหาฯไม่เห็นด้วยกับผังเมืองใหม่กรุงเทพ

"โสภณ" ชี้ผังเมืองกรุงเทพมหานคร ที่ครม.มีมติออกมา ไม่ชอบด้วยเหตุผล 7 ข้อ ระบุขยายเมืองไม่ได้ช่วยด้านสิ่งแวดล้อม
นายโสภณ พรโชคชัย ประธานกรรมการบริหาร ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส เปิดเผยว่า ตามผลการประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2556 ที่เห็นชอบกับร่างผังเมืองรวมกรุงเทพมหานครนั้น เหตุผลในการรับร่างผังเมืองอ่อนมาก และเห็นถึงจุดอ่อน 7 ข้อด้วยกัน
ทั้งนี้ 1. ร่างผังเมืองใหม่กำหนดให้พื้นที่ธุรกิจใจกลางเมืองถูกจำกัดการก่อสร้าง ทั้งที่ควรให้พัฒนาในแนวสูงเพื่อใช้ที่ดินอย่างคุ้มค่าและเก็บภาษีได้มาก ซึ่งการที่กรุงเทพมหานครอ้างว่ามีไฟไหม้อาคารขนาดใหญ่บ่อยครั้ง ไม่เป็นความจริง  ในช่วง พ.ศ.2550-5 อาคารเหล่านี้ เกิดเพลิงไหม้ลดลงจาก 9% เหลือ 1%  อาคารเหล่านี้มีระบบป้องกันไฟไหม้ที่ดี กรุงเทพมหานครควรปรับปรุงประสิทธิภาพในการดับเพลิง แทนที่จะนำมาอ้างเพื่อกีดขวางการพัฒนา
2. ร่างผังเมืองนี้ทำให้เมืองขยายออกไปในแนวราบ รุกทำลายสิ่งแวดล้อมและพื้นที่เกษตรกรรม สิ้นเปลืองงบประมาณขยายสาธารณูปโภคไม่สิ้นสุด ยังทำให้ประชาชนเสียเวลาและค่าใช้จ่ายมาก ซึ่งเป็นการผลักภาระและปัญหาไปสู่จังหวัดอื่น เช่น  ในพื้นที่ ย.3 ซึ่งเป็นพื้นที่อยู่อาศัยหลายร้อยตารางกิโลเมตรและมีอะพาร์ตเมนต์ให้บริการผู้มีรายได้น้อยมากมาย กรุงเทพมหานครกลับห้ามสร้างอะพาร์ตเมนต์ขนาดเกิน 1,000 ตารางเมตรหากถนนผ่านหน้าที่ดินมีความกว้างไม่ถึง 30 เมตร  ทั้งที่รู้ว่าในความเป็นจริงไม่มีซอยใดที่จะมีความกว้างเช่นนี้   ส่วนในพื้นที่ ย.2 ห้ามสร้างทาวน์เฮาส์ ทั้งที่บริเวณเหล่านี้มีทาวน์เฮาส์สำหรับผู้มีรายได้ปานกลางและรายได้น้อยอยู่มากมาย  ดังนั้นต่อไปประชาชนโดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อยและรายได้ปานกลางต้องระเห็จออกไปอยู่นอกเมือง
3. ตามร่างผังเมืองใหม่ก็ไม่ได้กำหนดให้มีแผนการป้องกันน้ำท่วมอย่างเป็นรูปธรรมเพราะไม่ได้ทำถนนและเขื่อนริมแม่น้ำเจ้าพระยา ระบบเปิดปิดน้ำกันน้ำทะเลหนุน และระบบคลองระบายน้ำใหม่ๆ เป็นต้น ยิ่งกว่านั้นกรุงเทพมหานครควรดำเนินการอย่างมีบูรณาการร่วมกับหน่วยงานอื่น
4. ผังเมืองที่ออกมาไม่สอดคล้องกับความจริงในหลายประการ เช่น  ถนนบางเส้นไม่จำเป็นต้องสร้าง เช่น ถนนหนองจอก เพราะสภาพเป็นทุ่งนา แต่บางเส้นเล็กและคดเคี้ยวกลับไม่ตัดถนน อย่างทางเข้ามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า วิทยาเขตบางขุนเทียน เป็นต้น ขณะที่ กำหนดการใช้พื้นที่ไม่เป็นจริง เช่น พื้นที่พาณิชยกรรม พ.1-12 ถนนนวมินทร์กลับมีสภาพจริงเป็นหมู่บ้านจัดสรร
5. แผนก่อสร้างและปรับปรุงถนน 140 สายตามร่างผังเมืองรวมนั้น หลายสายก็วาดไว้ตั้งแต่ผังเมืองฉบับปัจจุบันที่ประกาศใช้ในปี พ.ศ.2549 แต่ยังไม่ได้ก่อสร้าง  บางสายก็วาดต่างไปจากเดิม  ที่สำคัญก็คือ งบประมาณก่อสร้างถนนตามที่วาดไว้ยังไม่มีการจัดหาไว้ ซึ่งแสดงถึงความไม่แน่นอน
6. ผังเมืองกรุงเทพมหานครขาดการพัฒนาสวนสาธารณะ ซึ่งขณะนี้มีพื้นที่เพียง 4.65 ตารางเมตรต่อคน ซึ่งถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับมหานครทั่วโลก  ที่สำคัญพื้นที่สวนสวนสาธารณะ 26 ตารางกิโลเมตรยังรวมสวนในหมู่บ้านเอกชน เกาะกลางถนน บึงน้ำ พื้นที่ว่างของกองทัพ ฯลฯ เข้าไปด้วย  นอกจากนี้สวนสาธารณะส่วนมากจะสร้างในเขตรอบนอกซึ่งมีความจำเป็นน้อย  ไม่มีการวางแผนสร้างสวนสาธารณะใจกลางเมือง  ดังนั้นการกล่าวอ้างว่าผังเมืองจะทำให้กรุงเทพมหานครเป็นเมืองสีเขียว (Green City) จึงไม่จริง
7. ร่างผังเมืองนี้พยายามเสนอข้อดีบางประการ ซึ่งไม่เป็นจริง เช่น  จะเพิ่มการควบคุมกิจกรรมที่ขัดต่อสุขลักษณะ 5 กิจกรรม เช่น สนามแข่งม้า สนามแข่งรถ และสนามยิงปืนนั้น ในความเป็นจริงไม่ได้มีผลในทางปฏิบัติอยู่แล้ว เพราะแทบไม่มีการขออนุญาต  หรือการพัฒนาศูนย์เมืองย่อย เช่น ในย่านมีนบุรีที่แนวรถไฟฟ้าสายสีชมพู-สีส้มมาบรรจบกัน ย่านพระรามที่ 2 ใกล้กับถนนกาญจนาภิเษก และย่านรามอินทราใกล้จุดตัดถนนรัชดา-รามอินทรา  เป็นต้น  หากร่างผังเมืองนี้ได้ประกาศใช้ในปีนี้และหมดอายุในปี 2560 ก็ยังไม่แน่ว่ารถไฟฟ้าทั้งสองสายจะได้สร้างเสร็จ
นายโสภณ กล่าวว่า ร่างผังเมืองนี้ เป็นการแก้ปัญหาเมืองแบบซุกปัญหาไว้ใต้พรม เพราะแทนที่จะจัดระเบียบการใช้ที่ดินที่ดี กลับปัดปัญหาออกไปนอกเมือง  นี่จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้ประชากรของกรุงเทพมหานครลดลงในระยะหลายปีที่ผ่านมา เพราะประชาชนไม่สามารถอยู่อาศัยในกรุงเทพมหานครได้ เพราะความพยายามทำเมืองให้หลวม  กรุงเทพมหานครควรคิดใหม่ ทำเมืองให้หนาแน่น (High Density) แต่ไม่แออัด (Overcrowded) แต่ปัจจุบันกลับทำในทางตรงกันข้าม
สำหรับข้อเสนอแนะในการวางผังเมืองใหม่ ควรให้กระทรวงมหาดไทยดำเนินการวางแผนภาคมหานคร ซึ่งรวมพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล  และให้หน่วยงานต่างๆ ร่วมกันวางผังนี้ให้เป็นแผนแม่บทในด้านการปกครอง สาธารณูปโภคและอื่นๆ  ในระหว่างนี้ให้ประกาศใช้ผังเมืองฉบับเดิมไปก่อน และให้มีกรอบเวลาการทำผังภาคมหานครให้แล้วเสร็จใน 2 ปี
"ในพื้นที่เขตธุรกิจชั้นในของกรุงเทพมหานคร ควรอนุญาตให้ก่อสร้างอาคารขนาดใหญ่และสูงพิเศษ แต่ให้เว้นพื้นที่ว่างให้มากเพื่อให้เกิดพื้นที่สีเขียวใจกลางเมือง  พร้อมกับประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง การไฟฟ้า ประปา ทางหลวง รถไฟฟ้า ช่วยกันร่างผังเมืองนี้เป็นแผนแม่บทของหน่วยงานของตน" นายโสภณ กล่าว

ทำไมคิดว่าคอนโดจะเกิดฟองสบู่

ทำไมคิดว่าคอนโดจะเกิดฟองสบู่

โดย...ผศ.ดร.เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ กรรมการ บริษัทเสนาดีเวลลอปเม้นท์ 
ดิฉันคิดว่าสาเหตุหลักประการหนึ่งที่ทำให้คนส่วนใหญ่วิตกกังวลว่าอสังหาริมทรัพย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคอนโดกำลังเกิดภาวะฟองสบู่ขึ้น ก็คงเป็นเพราะกระแสความต้องการคอนโดที่มีมากอย่างไม่น่าเชื่อ ที่ยิ่งเป็นแรงผลักดันให้ผู้ประกอบการทั้งที่เป็นมืออาชีพและไม่เป็นมืออาชีพ ต่างก็ให้ความสนใจพัฒนาคอนโดกันเป็นจำนวนมาก ซึ่งดิฉันเองเห็นพ้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของราคาที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ยอดขายที่ทวีความร้อนแรง รวมถึงอุปทานในตลาดที่มีอยู่มากมาย ล้วนเป็นสัญญาณเตือนที่อาจจะก่อให้เกิดความกังวลในแง่ภาวะฟองสบู่ได้
เห็นได้จากผลสำรวจล่าสุดของบริษัท ไนท์แฟรงค์ ชาร์เตอร์ (ประเทศไทย) ที่พบว่า จำนวนห้องชุดทั้งหมดที่เปิดตัวใหม่ในช่วงครึ่งหลังของปี 2555 มีทั้งสิ้น 34,378 หน่วย เพิ่มขึ้นถึง 26.93% ของจำนวนห้องชุดที่เปิดตัวใหม่ในช่วงครึ่งแรกของปี 2555 โดยทำเลส่วนใหญ่จะอยู่ในเขตปริมณฑลมากถึง 74% ของจำนวนห้องชุดทั้งหมด รองลงมาเป็นบริเวณในเขตเมืองของกรุงเทพฯ และชานเมือง คิดเป็น 16% และ 10% ตามลำดับ ทั้งนี้ เนื่องจากมีการขยายตัวของเส้นทางรถไฟฟ้า จึงทำให้เขตปริมณฑลมีการพัฒนาโครงการกันมากขึ้น
อย่างไรก็ดี ดิฉันคิดว่ากระแสความต้องการคอนโดนั้น เป็นกระแสที่เกิดขึ้นจริงจากพฤติกรรมการอยู่อาศัย และสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนไป ยกตัวอย่างเช่น สภาวะเศรษฐกิจในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ค่าครองชีพของคนไทยสูงขึ้น ประกอบกับลักษณะทางสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป จำนวนคนต่อครัวเรือนที่ลดลงเรื่อยๆ โดยในปี 2554 มีจำนวนคนต่อครัวเรือนเฉลี่ยอยู่เพียง 2.27 คน คนหนุ่มสาวแต่งงานช้าลงหรืออยู่เป็นโสดกันมากขึ้น ได้เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการอยู่อาศัยของคนไทย โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ จนเกิดเป็นกระแส “Urban City Lifestyle”
เพราะหากเรามองย้อนกลับไปในอดีต ก็จะเห็นการเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยหลายๆ อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้น|ไม่ว่าจะเป็นความสัมพันธ์ของคนรุ่นใหม่ที่ใช้ชีวิตอยู่ด้วยกันโดยไม่แต่งงานและมีลูกน้อยลง ลูกไม่ได้อยู่อาศัยกับพ่อแม่เพิ่มมากขึ้น เพราะเป็นครอบครัวเดี่ยว คนรุ่นใหม่ทำกิจกรรมนอกบ้านและใช้เวลาอยู่กับครอบครัวน้อยลง ฯลฯ
สอดคล้องกับผลการศึกษาของฝ่ายวิจัยธุรกิจ บริษัท เสนาดีเวลลอปเม้นท์ ที่พบว่า ผู้บริโภคส่วนใหญ่ที่ซื้อคอนโดจะมีอายุอยู่ในช่วง 26-35 ปี สถานภาพโสดหรือยังไม่แต่งงาน การศึกษาระดับปริญญาตรี เป็นพนักงานบริษัทเอกชน มีรายได้ต่อเดือนอยู่ในช่วง 1.5-3 หมื่นบาท นิยมคอนโดที่มีขนาด 1 ห้องนอน เพราะมีความเป็นส่วนตัวและพอมีกำลังซื้อได้ โดยมีสมาชิกอาศัยอยู่รวมกันไม่เกิน 2 คน ส่วนใหญ่ต้องการที่อยู่อาศัยใกล้สถานที่ทำงาน เดินทางสะดวก อาจไม่จำเป็นต้องติดรถไฟฟ้าเสมอไป
แนวโน้มการเติบโตของคอนโดส่วนมากจะตั้งอยู่ใกล้แหล่งช็อปปิ้ง หรือระบบขนส่งมวลชนที่มีความหลากหลาย อันตอบสนองไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่ที่มีงบประมาณการซื้อที่อยู่อาศัยอย่างจำกัด สามารถซื้อที่อยู่อาศัยได้ในทำเลที่ไม่ไกลจากตัวเมืองมากนัก หรืออยู่ใกล้กับที่ทำงาน ทำให้การเดินทางมีความสะดวกรวดเร็ว เพื่อจะได้มีเวลาพักผ่อนหรือทำกิจกรรมอย่างอื่นได้มากขึ้น
คนรุ่นใหม่จึงนิยมซื้อคอนโดเป็นที่อยู่อาศัยหลังแรก และส่วนมากก็ไม่คิดว่าจะซื้อคอนโดเป็นที่อยู่อาศัยเพียงหลังเดียว หรือหลังสุดท้ายในชีวิต ดังนั้น จึงทำให้มีการตัดสินใจซื้อที่เร็วและง่ายขึ้น เมื่อเทียบกับการตัดสินใจซื้อบ้านเดี่ยวหรือทาวน์เฮาส์ นอกจากคอนโดจะตอบโจทย์ความต้องการของคนรุ่นใหม่ในเรื่องการอยู่อาศัยแล้ว ยังตอบโจทย์ในเรื่องการลงทุนอีกด้วย เพราะเมื่อปริมาณความต้องการคอนโดที่สูงขึ้น ก็จะทำให้คอนโดเป็นอีกหนึ่งสินทรัพย์ที่เหมาะกับการลงทุนไม่ว่าจะเป็นการซื้อไว้เพื่อปล่อยเช่า หรือขายทำกำไร เนื่องจากมีสภาพคล่องและเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภค
ทั้งหมดนี้ คือ สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในสังคมไทย ที่จะส่งผลต่อพฤติกรรมและรูปแบบการอยู่อาศัยในอนาคต ล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องธรรมชาติที่เมื่อโลกหมุนไป ความเปลี่ยนแปลงก็ย่อมเกิดขึ้น แต่คอนโดจะยังคงเป็นรูปแบบการอยู่อาศัยที่ตอบโจทย์ความต้องการของคนรุ่นใหม่ได้ไม่ว่าจะซื้อเพื่อการอยู่อาศัย หรือจะซื้อเพื่อการลงทุนก็ตามที จึงไม่ได้เป็นเรื่องที่น่าแปลกใจที่ทำให้กระแสความต้องการคอนโดมีมากมายอย่างไม่น่าเชื่อเหมือนเช่นในปัจจุบันค่ะ